วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผ่าตำหนิ พระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่


ส่วนเมืองนครชุมมีปรากฏในศิลาจารึก ของ พระมหาธรรมราชาลิไทย มาก่อน พ.ศ. ๑๙๐๐ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ที่ฝักใฝ่ ในพุทธศาสนา ทรงทำนุบำรุงและสร้างสรรค์พุทธสถาน พระบูชา พระเครื่อง ไว้อย่างมากมาย จนตกทอดถึงปัจจุบัน

พระเครื่องเมืองกำแพงเพชร เริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมกันขึ้นมา ในสมัยของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ โดยมีบันทึกใน พระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประภาสเมืองกำแพงเพชร ปรากฏเรื่องราว ของเมืองกำแพงเพชร และพระเครื่องว่า

...นายชิด มหาเล็กหลวงบวรเดช เดิมรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ลาป่วย ได้กลับมารักษาตัว ที่บ้านภรรยา เมืองกำแพงเพชร ได้ทูลเกล้าฯ ถวายตำนานพระกำแพงทุ่งเศรษฐี เป็นจารึกบนแผ่นลานทอง แด่รัชกาลที่ ๕ ขุด ได้จากบริเวณทุ่งเศรษฐี ว่า การพบกรุพระครั้งแรกที่วัดพระบรมธาตุ นครชุม จากเจดีย์ ๓ องค์ ได้ถูกซ่อมขึ้นรวมเป็นองค์เดียวโดยชาวพม่า ชื่อพระยาตะก่า แล้วนำยอดฉัตร จากประเทศพม่ามาประดับยอดพระบรมธาตุ ได้บันทึกไว้ว่า

หลังจากพบพระพิมพ์จาก เจดีย์ต่างๆ ในบริเวณ ทุ่งเศรษฐี ได้พระพิมพ์ จำนวนมาก พระพิมพ์ เมืองกำแพงเพชร นี้นับถือกัน มาช้านานแล้วว่า มีอานุภาพมาก ผู้ใดมีไว้ จะทำการใด ก็มีความสำเร็จ ผลตามความปรารถนาทุกประการ

ทั้งนี้นายชิดได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระพิมพ์ทุ่งเศรษฐี หลายแบบ แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ อีกด้วย ซึ่งท่านได้นำออก พระราชทาน แก่พระบรมวงศานุวงศ์ต่ออีกภายหลัง จนเป็นที่นิยม ในหมู่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่สืบต่อมาอีกจนถึงปัจจุบัน

ในบริเวณลานทุ่งเศรษฐีมีการพบพระกรุทุ่งเศรษฐีกันมากมายหลายพิมพ์ ที่นิยมมากเห็นจะหนีไม่พ้น พระกำแพงเขย่ง ซึ่งได้แก่พระกำแพงเม็ดขนุน กำแพงพลูจีบ กำแพงกลีบจำปา เป็นต้น และ ที่นิยมเป็นที่สุด เป็น ๑ ในชุดเบญจภาคี ก็คือ พระกำแพงซุ้มกอ ซึ่งประกอบด้วย

- พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนก

- พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ ไม่มีกนก (ซุ้มกอดำ)

- พระซุ้มกอ พิมพ์กลาง

- พระซุ้มกอ พิมพ์เล็ก

- พระซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปียะ (ไม่ตัดปีก)

- พระซุ้มกอ พิมพ์เล็ก พัดใบลาน

พระซุ้มกอ ที่นิยมมากสุด คือ พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มีกนก ซึ่งเริ่ม มีการพบจากบริเวณลานทุ่งเศรษฐี และบรมธาตุ นครชุม เป็นพระดินเผา ที่มีเนื้อค่อนข้างนิ่ม ละเอียดมาก มีว่านดอกมะขามปรากฏทั่วองค์พระ

ความที่มีความละเอียดและเนื้อนิ่มมาก จึงให้พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มักจะหักชำรุดเสียเป็นส่วนใหญ่ พระที่เหลือเป็นแบบที่สมบูรณ์ มีน้อยมากๆ ที่พบเห็นอยู่ในวงการจึงทำให้ความนิยม และ ราคาการเช่าหา พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ เทียบได้กับ พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เลยทีเดียว

พุทธลักษณะพระกำแพงซุมกอ เป็นพระปางสมาธิ มีทั้งสมาธิราบ และสมาธิเพชร เป็นศิลปะเชียงแสนผสม กับสุโขทัย คือ องค์พระอวบอ้วน พระอุระผึ่งนูนดูเด่นสง่างามมาก แบบเชียงแสน พระนาภีเรียว การทิ้ง พระพาหา และขัดสมาธิงดงามแบบสุโขทัย มีประภามณฑลรอบพระเศียรคล้าย รูปตัว ก.ไก่ บางท่านว่า ซุ้มที่องค์พระเหมือนรูป ก.ไก่มาก จึงเรียกว่า พระซุ้มกอ

พระกำแพงซุ้มกอ แบบไม่มีลายกนก แบบนี้เป็นพระชนิด เนื้อสีดำและสีเขียว ส่วนสีแดงก็มีบ้าง

พระกำแพงซุ้มกอสีแดงที่ไม่มีลายกนกนี้ พิมพ์ใหญ่มีน้อยมาก พระซุ้มกอดำ เป็นแบบที่มีประภามณฑล คล้ายรูปทรงของตัว ก. แบบอื่นๆ คือยังมีรูปทรง ตลอดจนประภามณฑ ลคล้ายพระพุทธรูป คันธารราฐมากที่สุดนั่นเอง

พระกำแพงซุ้มกอ แบบที่มีลายกนก แบบนี้เข้าใจว่าจะพัฒนา มาจาก แบบแรก คือมีลายบัว ที่ฐาน และการเปล่งรังสี ออกจาก พระวรกาย โดยทำเป็น รูปลายกนก อย่างงดงาม โดยเฉพาะพิมพ์ใหญ่ ช่องพระพาหาลึก ทำให้พระอุระ และองค์พระ ซึ่งแลดูเด่นนูน อยู่แล้วดูสง่างามยิ่งขึ้น นอกจาก ชนิดพิมพ์ บางพิมพ์ เท่านั้นที่ช่องพระพาหาตื้น แบบนี้มีบางพิมพ์ ที่ทำเป็น สมาธิเพชร แต่ส่วนมากทำเป็นสมาธิราบทั้งนั้น

พระกำแพงซุ้มกอ เป็นยอดทางเมตตามหานิยม โภคทรัพย์ โชคลาภ และความเป็น สิริมงคล บางท่านว่ามีพระซุ้มกอ แล้วไม่มีวันจน เมื่อมี ความนิยมสูง ของปลอมย่อมมีปรากฏมากมาย หลายรุ่น หลายแบบ มีทั้งแบบปลอมแบบหยาบๆ และ ปลอมแบบ เหมือนมาก แต่ก็ยังมีจุดที่ไม่เหมือนอยู่หลายจุด ซึ่งเกิดจาก แม่พิมพ์ของพระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีความงดงามและซับซ้อนในรายละเอียดสูง





หลักการพิจารณาพระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนก มีตำหนิสำคัญ ดังนี้
๑.ขอบแม่พิมพ์ด้านซ้ายขององค์พระ จะมีขนาดเล็กกว่าด้านขวาขององค์พระ
๒.ขอบกนกด้านข้างทางขวามือองค์พระเป็นขดวงกลม ๓ ขด
๓.ขอบกนกด้านบนขวามือองค์พระและซ้ายองค์พระจะเป็นเส้นโค้งงอนขึ้น และโค้งเข้าหากัน
๔.ขอบกนกด้านซ้ายมือขององค์พระเป็นรูปพญานาค หรือตัว “S” ในภาษาอังกฤษ
๕.ที่บริเวณกระจังหน้าบนเศียรพระมีรอยบุบของขอบกระจัง (มักเห็นในพระที่สมบูรณ์)
๖.หูทั้งสองข้างขององค์พระยาวจรดบ่า
๗.ซอกแขนทั้งสองข้างขององค์พระมีความลึกมาก
๘.เส้นอังสะ (ข้างเส้นสังฆาฏิ) จะตวัดซ้อนลึกเข้าไปในซอกรักแร้
๙.ประทับนั่งแบบมือขวาทับซ้าย ชัดเจน
๑๐.ฐานบัวเล็บช้างกลีบแรก (จากทางขวาขององค์พระ) โค้งจากด้านข้าง มาด้านหน้า

นี่คือตำหนิในแม่พิมพ์พระแท้ของพระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ ที่สำคัญมาก และสามารถนำมาใช้เป็นจุดวิเคราะห์ พระแท้ พระปลอม ได้ จึงนำเสนอไว้เป็นข้อมูลสำหรับท่านผู้สนใจในพระพิมพ์นี้ ไว้ศึกษาเทียบเคียงกับพระที่ท่านมีโอกาสพบเจอในภายหน้าต่อไป

http://www.pra.kachon.com/pra/detail.asp?id=922

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น